.

โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ที่มาของโครงการ

การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก และนอกจากผลิตภัณฑ์ที่ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษและกากของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนที่ให้บริการบำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Processor) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรองรับและให้บริการแก่ผู้ก่อกำเนิด (Waste Generator) มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการให้บริการของผู้ให้บริการขนส่ง ผู้รับบำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ยังพบประเด็นปัญหาในเรื่องมาตรฐานการให้บริการ รวมทั้งข้อร้องเรียนจากประชาชน ส่งผลให้ผู้ก่อกำเนิดของเสียขาดความมั่นใจในระบบการให้บริการบำบัดและกำจัด และขาดข้อมูลสำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสม

กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงดำเนินโครงการจัดระดับมาตรฐานการให้บริการจัดการกากอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นการพัฒนามาตรฐานการจัดการให้บริการรับบำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของผู้ให้บริการให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมาย และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พัฒนาระบบ AI เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตโรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดของเสียที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวิธีปฏิบัติงานที่ดีให้สามารถรับของเสียบางชนิดได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ที่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี และสามารถเข้าสู่ระบบการอนุญาตโดยอัตโนมัติ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันโรงงานที่รับดำเนินการบำบัดและกำจัดที่เคยเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการอนุญาตอัตโนมัติ และโรงงานที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการให้มีการพัฒนา ปรับปรุงการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานที่ดีจนเข้าสู่ระบบการให้อนุญาตอัตโนมัติได้เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการจัดการกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ลดปัญหามลพิษและการจัดการกากของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อให้โรงงานผู้รับดำเนินการบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมได้ยกระดับการให้บริการและการจัดการของเสียให้เป็นมาตรฐานและมีการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน
  • เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของโรงงานผู้รับบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น
  • เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโรงงานผู้รับบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีการให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการแก่สาธารณชน

โรงงานในกลุ่มเป้าหมาย

  1. โรงงานผู้รับบำบัด/กำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วลำดับที่ 101 105 และ 106
  2. โรงงานที่ใช้กากของเสียอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบลำดับที่อื่นๆ หรือมีการเพิ่มการประกอบกิจการลำดับอื่นๆ

ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ

ปฏิทินกิจกรรมในโครงการ

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ

  • ได้รับคำปรึกษาแนะนำในการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีสำหรับประเภทกิจกรรมโรงงาน
  • ได้รับการตรวจประเมินเพื่อจัดระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีสำหรับประเภทกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • โรงงานที่ผ่านการประเมินและอยู่ในข่ายได้รับการจัดระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานจะได้รับมอบตราสัญลักษณ์ฯ สำหรับประเภทกิจกรรมเพื่อแสดงต่อสาธารณะ
  • โรงงานที่ได้รับตราสัญลักษณ์ฯ ระดับเหรียญทอง จะสามารถรับกากของเสียออกนอกบริเวณโรงงานแบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (AI) โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • โรงงานที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานฯ ในระดับเหรียญทองต่อเนื่อง 3 ปี จะได้รับสิทธิพิเศษในการใช้ตราสัญลักษณ์ฯ ได้อีก 1 ปี โดยที่โรงงานไม่ต้องขอการรับรอง
  • โรงงานที่เคยเข้าร่วมโครงการ และได้รับตราสัญลักษณ์ฯ ในระดับเหรียญทองต่อเนื่องกัน 6 ปี ในปีที่ 7 และปีที่ 8 จะได้รับสิทธิพิเศษในการใช้ตราสัญลักษณ์ฯ ระดับ “Gold Plus”